ชื่อ                         นายศรชัย พงษ์ษา  

ระดับ                      มัธยมศึกษาตอนปลาย

สถานศึกษา             โรงเรียนเมธีชุณหะวัณวิทยาลัย

ชื่อผลงาน               วีรชนชาวบ้านบางระจัน

ชื่อวรรณกรรม         บางระจัน

 

 

บทวรรณกรรม

 

พม่าพากันหวาดกลัวฝีมือชาวบ้านบางระจัน เพราะเสียทีที่ส่งกองทัพพม่าไปตีถึง ๗ ครั้ง พม่าก็ต้องพ่ายแพ้ยับเยินทุกครั้ง ส่วนชาวบ้านบางระจันนับวันก็จะมีกำลังเพิ่มมากขึ้นทุกที

ระหว่างนั้นมีชาวมอญอาศัยอยู่เมืองไทยมานานได้ไปช่วยรบอยู่กับพม่า จึงถูกแต่งตั้งให้เป็นนายกองเรียกกันว่าสุกี้(ชุกคยี) แปลว่านายกองใหญ่ อาสาปราบชาวบ้านบางระจันให้ได้ จึงเกณฑ์กำลังจำนวนประมาณ ๒,๐๐๐ คน ยกไปตีค่ายบางระจันเป็นครั้งที่ ๘ สุกี้นั้นรู้จักคุ้นเคยกับคนไทยมานาน รู้นิสัยว่าคนไทยใจกล้า ถ้ารบกันในที่แจ้งอาจจะสู้ไทยไม่ดี ทั้งหนทางนั้นเป็นป่าเปลี่ยว ไทยอาจแอบซุ่มโจมตีได้ สุกี้จึงเดินทัพไปอย่างช้าๆ ด้วยความระมัดระวัง

ชาวบ้านบางระจันรู้ว่าพม่ายกทัพก็พยายามเข้าตีค่ายของพม่าหลายหน แต่ในครั้งนี้ชาวบ้านบางระจันเสียเปรียบพม่า เพราะพม่ามีปืนใหญ่ แต่ทางชาวบ้านบางระจันไม่มี เวลายกกำลังออกไปตีพม่าทีไรก็ถูกพม่าใช้ปืนยิงมาถูกชาวบ้านบาดเจ็บล้มตายกลับมาทุกที ด้วยความกลัดกลุ้มนายทองเหม็นจึงดื่มสุราแล้วขี่ควายออกจากค่ายพากำลังชาวบ้านออกตีค่ายพม่าอีก นายทองเหม็นขี่ควายไล่ถลำเข้าไปในวงล้อมของพม่า พม่าจึงช่วยกันทุบตีจนตายไป

พวกชาวบ้านเมื่อเสียหัวหน้าค่ายก็ตกใจหนีกลับเข้าค่าย และเป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านบางระจันพ่ายแพ้แก่พม่า ทำให้ชาวบ้านต่างก็ปรึกษากันจึงเขียนใบบอกไปยังเมืองกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอปืนใหญ่กับกระสุนดำ เมื่อได้รับใบบอก บรรดาเสนาบดีต่างปรึกษากันและลงความเห็นว่าไม่ให้ เพราะเกรงว่าข้าศึกจะแย่งเอาไป  ได้แต่ส่งพระยารัตนาธิเบศร์ออกมาเรี่ยไรเครื่องภาชนะทองเหลืองของชาวบ้านมาหล่อปืนใหญ่  แต่พระยารัตนาธิเบศร์ไม่เคยหล่อปืนใหญ่มาก่อน  ครั้นหล่อออกมาเสร็จพอจะยิงปืนก็แตก  พระยารัตนาธิเบศร์เห็นว่าการสงครามต่อไปคงไม่สำเร็จแน่จึงหนีไป  ปล่อยให้ชาวบ้านบางระจันเผชิญชะตากรรมกันตามเวรตามกรรม   

ต่อมานายแท่นซึ่งบาดเจ็บมานานก็ถึงแก่กรรมลง  แต่ขุนสรรค์กับนายจันทร์หนวดเขี้ยวก็ยังมุ่งมั่น  จึงรวมกำลังชาวบ้านออกตีค่ายพม่าอีก  ขณะกำลังตีค่ายพม่าอยู่นั้น  พม่าก็นำกำลังออกจากค่ายโอบล้อมขุนสรรค์กับนายจันทร์หนวดเขี้ยวและพวกชาวบ้านไว้  แล้วโจมตีทางด้านหลัง  ชาวบ้านบางระจันไม่ทันได้ตั้งตัวก็ถูกพม่าตีแตกพ่ายกระเจิงไป  ขุนสรรค์กับนายจันทร์หนวดเขี้ยวก็ถูกฆ่าตายทั้งคู่  พวกชาวบ้านบางระจันหมดหนทางที่จะต่อสู้ ต่างก็หมดกำลังใจ  กำลังกายก็อ่อนแอลง  คงเหลือแค่นายพันเรืองกับนายทองแสงใหญ่เท่านั้นที่ยังคงคุมคนอยู่  ชาวบ้านบางคนต่างก็พาครอบครัวของตนหลบหนีไป 

ฝ่ายสุกี้เห็นพวกชาวบ้านบางระจันอ่อนกำลังแล้วก็สั่งให้ขุนอุโมงค์เข้าไปตั้งค่ายประชิดกับค่ายบางระจัน ปลูกหอรบสูง  นำปืนใหญ่ขึ้นไปตั้งแล้วยิงเข้าไปในค่ายบางระจัน ทำให้ผู้คนระส่ำระส่าย  สุกี้ก็สั่งให้ทหารของตนเข้าปล้นค่าย  พวกชาวบ้านก็ต่อสู้อย่างเต็มกำลัง  แต่ชาวบ้านบางระจันไม่อาจต้านทานได้จึงถูกจับและฆ่าตายเป็นจำนวนมาก  นายพันเรืองและนายแสงใหญ่ก็ต่อสู้กับพม่าจนตัวตายอยู่ในค่ายบางระจัน 

ในที่สุดค่ายบางระจันที่เคยแข็งแกร่งก็ทนทานกำลังข้าศึกไม่ไหว จึงแตกพ่ายไปเมื่อวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ พุทธศักราช ๒๓๐๙

 

 

แนวคิดและเหตุผล

 

ผมต้องการสื่อให้เห็นถึงภาพของวีรชนค่ายบางระจัน กลุ่มคนที่เป็นเพียงชาวบ้านสามัญธรรมดา  แต่แฝงด้วยจิตใจวีรบุรุษทหารกล้า  ผู้เสียสละเลือด  เนื้อ  กาย  ใจ  ปกป้องผืนแผ่นดินเกิดจนตัวตายเพื่อรักษาคำว่า “ชาติไทย” ให้หลงเหลือตกถึงลูกหลานไทยมาจนทุกวันนี้ 

ถึงแม้ว่าในบางตอนของเรื่องทางราชการไม่ให้ความร่วมมือ  แต่ชาวบ้านก็ยังคงรวมพลังเป็นหนึ่งเดียว  ซึ่งเปรียบกับ “ชาติไทย” ในปัจจุบันที่ต่างคิดจะแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน อยากให้พรรคหรือฝ่ายของตนเองเป็นใหญ่ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนจนลืมประโยชน์ส่วนรวม  โดยลืมคำว่า “ประชาธิปไตย”  ขาดความรักความสามัคคีในหมู่คณะ 

คนในสมัยก่อนยอมสละเลือด เนื้อ กาย ใจ เพื่อรักษาผืนแผ่นดินให้คงอยู่ซึ่ง “เอกราช” เพื่อให้ชนรุ่นหลังสืบต่อผลของการเสียสละเหล่านั้น

คำว่า “เอกราช” ค่อยๆ หมดความหมาย  เมื่อคนไทยต่างเบียดเบียนคนไทยด้วยกัน ก่อให้เกิดความแตกแยกบนผลประโยชน์ส่วนตน 

ผมนำเรื่องบางระจันขึ้นมาถ่ายทอดผ่านจินตนาการเพื่อสะท้อนให้คนไทยอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข  เป็นสังคมที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  การแบ่งปัน  มีน้ำใจ  มีความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกันเสมือนสังคมของคนไทยโบราณ