เอ็กซ์ - สุรสิษฐ์ โสดาตา กับการสะท้อนความรุนแรงทางเพศ ผ่านภาพวาดพอร์เทรทสีน้ำมัน

“ความรุนแรงทางเพศเป็นสิ่งที่มีอยู่ในสังคมประเทศไทยและส่งผลให้เกิดความเลวร้ายต่อสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ จนเกิดเป็นความทุกข์ของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายไร้ทางสู้ ในวรรณกรรมให้ภาพแทนผู้หญิงในลักษณะอ่อนแอไม่แข็งแรงเท่าผู้ชาย ข้าพเจ้าจึงนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาของประเทศไทยที่ยังคงมีอยู่ และภาวนาอยากให้ปัญหานี้ลดลงและหายไปจนหมดสิ้นเพื่อความสงบสุขของประเทศไทยและก้าวหน้าสืบต่อไป”


เอ็กซ์ - สุรสิษฐ์ โสดาตา ได้อธิบายประกอบเอาไว้กับภาพผลงาน “กายและใจ” ที่คว้ารางวัลพิเศษในระดับชั้นอุดมศึกษา ในโครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทย กับอินทัช ปีที่ 14 อะไรคือเบื้องหลังแนวคิดของภาพนี้ ทำไมถึงต้องเป็นภาพผู้หญิง ทำไมถึงต้องเป็นเรื่องความรุนแรงทางเพศ วันนี้เราพาไปหาคำตอบจากการพูดคุยกับ สุรสิษฐ์ โสดาตา ศิลปินวัย 22 ปี จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชั้นปีที่ 4


เอ็กซ์ - สุรสิษฐ์ โสดาตา

เอ็กซ์เริ่มต้นสนใจศิลปะได้อย่างไร
เริ่มสนใจศิลปะตั้งแต่เด็ก ๆ ชอบวาดรูป เขียนรูป แต่มาเริ่มจริงจังช่วงที่เข้ามัธยม ได้ส่งผลงานเข้าประกวด และต่อยอดมาถึงปัจจุบัน

เรียนรู้ศิลปะจากที่ไหน
ตอนก่อนจะเข้ามหาลัยฯ ไปเรียนที่ตึกติวที่เป็นสถาบันกวดวิชาเกี่ยวกับศิลปะ ต่อมาก็เข้ามาเรียนที่มหาลัยฯ เกี่ยวกับศิลปะ นอกจากนั้นก็ศึกษาดูงานศิลปะจากแกลเลอรีและหอศิลป์

สไตล์ และเทคนิคที่เราถนัด
งานที่ทำจะเป็นสไตล์ Realistic ส่วนเทคนิคที่ถนัดก็เป็นสีน้ำมันบนผ้าใบครับ

มีศิลปินที่ชื่นชอบเป็นพิเศษไหม
ถ้าเป็นศิลปินไทยที่ชอบก็จะเป็นอาจารย์ “วัชระ กล้าค้าขาย” อาจารย์เขาเขียนภาพคนเหมือนกัน เราก็ศึกษาเทคนิคจากงานของเขา ส่วนศิลปินต่างประเทศที่ชอบก็จะเป็น “Marco Grassi” คนนี้ทำงานแบบ Hyper-realistic คือเขียนภาพคนจนเหมือนเป็นภาพจริง ซึ่งจริง ๆ แล้วนี่เป็นเป้าหมายของผมที่จะพัฒนาทักษะเขียนภาพพอร์เทรทให้สมจริงไปถึงจุดนั้นเลย
ภาพพอร์เทรทสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ
ภาพผู้หญิงอมลูกอม
ภาพนี้จริง ๆ ยังไม่ได้ตั้งชื่อผลงาน ส่วนที่เลือกชิ้นนี้มาให้ชมเพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรา
ต่อยอดทำผลงานการเขียนภาพพอร์เทรทผู้หญิง มาถึงทุกวันนี้
ภาพนี้เราได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องของวัตถุทางเพศที่เราพบเห็นในสื่อต่าง ๆ ของสังคมไทยเป็นการวิพากษ์สื่อโฆษณาไทย ที่ใช้เพศหญิงให้ตกอยู่ในสถานะของวัตถุทางเพศมากเกินไป มันเกิดจาก เราไปดูโฆษณาอันหนึ่งมา ที่เป็นผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แล้วเขาเอาดาราคนหนึ่งมากินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นแบบยั่ว ๆ มันทำให้เรารู้สึกว่าแบรนด์ ๆ นี้เหมือนเขาล่อลวงคนด้วยความเป็นเพศหญิง
ผลงาน “กายและใจ” ที่ได้รับรางวัลพิเศษ ระดับชั้นอุดมศึกษา ในโครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทย กับอินทัช ปีที่ 14 www.intouchstation.com/awarded-works/14-043
ที่มาของผลงาน “กายและใจ” และทำไมถึงเลือกวรรณกรรมเรื่อง “ล่า” มาถ่ายทอดเป็นผลงานชิ้นนี้
คือวรรณกรรมเรื่อง “ล่า” มันมีประเด็น มีเรื่องราวที่ทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจ เราอินกับเรื่องราวของวรรณกรรมเรื่องนี้มากที่มันมีเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงที่เกิดกับเพศหญิง แล้วก็ปัญหาสังคมไทยที่แสดงออกมาค่อนข้างชัดเจน

จากแรงบันดาลใจตรงนั้น พัฒนามาเป็นงานชิ้นนี้ได้ไง
คือเราจินตนาการ แล้วก็ศึกษาเกี่ยวกับแผลและร่องรอยของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสตรี ประกอบกับรสนิยมของผมที่ชอบเขียนภาพพอร์เทรทผู้หญิง ทำให้ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานชิ้นนี้

เทคนิคที่ใช้ในภาพนี้
ใช้สีน้ำมันบนผืนผ้าใบ ที่เลือกใช้เทคนิคนี้เพราะสีน้ำมันช่วยให้ผมถ่ายทอดความสมจริง เสมือนเป็นความหมายหนึ่งคือ Realistic ที่สะท้อนความจริงในสังคม ต้องการให้ผู้ชมได้รู้สึกปะทะในรายละเอียด ในอารมณ์ของผลงานของเราด้วย

ความหมายที่แฝงอยู่ในผลงาน “กายและใจ”
ที่เลือกทำผลงานออกมาในลักษณะแบบ “Realistic” ความหมายหนึ่งคือต้องการสะท้อน “ความจริง” ในสังคม ต้องการให้ผู้ชมได้รู้สึกปะทะในรายละเอียด ในอารมณ์ของผลงานของเราอย่างตรงไปตรงมา เกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสตรีไทย และให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหานี้มากยิ่งขึ้น
ผลงาน “กายและใจ” บน Online Exhibition www.intouchstation.com/3d-exhibition
คิดว่าการอ่านวรรณกรรมช่วยเสริมสร้างจินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างไ
วรรณกรรมเป็นข้อมูล เป็นแรงบันดาลใจในส่วนหนึ่ง ที่เราสามารถหยิบยกขึ้นมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้
ศิลปะมีประโยชน์อย่างไรกับชีวิตของเรา
ศิลปะเหมือนเป็นสื่อหนึ่งที่บ่งบอกอารมณ์ความรู้สึก สะท้อนจิตวิญญาณเราในช่วงเวลานั้นได้

สามารถรับชมผลงานทั้งหมดในโครงการจินตนาการ สืบสาน วรรณกรรมไทย กับอินทัช ปีที่ 14 ผ่าน Virtual Exhibition และซื้อผลงานศิลปะที่ได้รับรางวัลในปีที่ 14 ได้ที่ www.intouchstation.com รายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายสมทบทุนมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เป็นทุนการศึกษาของนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในโครงการบัณฑิตคืนถิ่น


แชร์: